การแบ่งความรุนแรงของความเสี่ยงจากการใช้ยาขณะให้นมบุตร (Lactation Risk Categories)

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

Lactation Risk Categories เป็นเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นมาโดยยึดหลักฐานสนับสนุนด้านความปลอดภัยในการใช้ยาในหญิงให้นมบุตร   จัดทำขึ้น โดย Thomas W. Hale, PhD ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ยาในหญิงให้นมบุตรที่เป็นที่ยอมรับ   เกณฑ์นี้น่าจะเป็นที่ยอมรับและใช้อ้างอิง คล้ายกับ Pregnancy Risk Categories ที่กำหนดโดย FDA  ซึ่งการจัดเข้ากลุ่มของยาต่าง ๆ ยึดตามหลักฐานสนับสนุน และสามารถเปลี่ยนแปลงได้เมื่อหลักฐานเปลี่ยนไปโดยสามารถดูนิยามได้จาก http://www.medsmilk.com/pages/lactation_risk_categories

L1 SAFEST: ปลอดภัย

มีการใช้ยาในหญิงให้นมบุตรจำนวนมาก แล้วไม่พบว่าทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ในทารก   และจากการศึกษาทดลองแบบ Controlled studies ในหญิงให้นมบุตร ก็ไม่พบว่ายาจะก่อให้เกิดความเสี่ยงใดๆต่อทารก หรือไม่พบว่าทารกได้รับยาโดยการกิน

L2 SAFER: ค่อนข้างปลอดภัย

มีการศึกษาการใช้ยาในหญิงให้นมบุตรจำนวนจำกัด  และไม่พบว่าทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออันตรายในทารก  และ/หรือ ไม่พบหลักฐานความเสี่ยงใดๆในหญิงให้นมบุตรที่ใช้ยานี้

L3 MODERATELY SAFE: น่าจะปลอดภัย

ไม่มีการศึกษาทดลองแบบ Controlled studies ในหญิงให้นมบุตร  ทารกที่ได้รับยาทางน้ำนมจึงอาจยังเสี่ยงต่อผลที่ร้ายแรงได้อยู่  หรือจากการศึกษาทดลองแบบ Controlled studies ในหญิงให้นมบุตร พบอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยาเพียงเล็กน้อย โดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆ  ดังนั้นในการพิจารณาใช้ยาควรประเมินข้อดี และข้อเสียที่อาจเกิดจากการใช้ยาในขณะให้นมบุตรก่อน

L4 POSSIBLY HAZARDOUS: อาจเป็นอันตราย

มีหลักฐานว่ายาทำให้เกิดความเสี่ยงต่อทารกที่กินนมแม่  แต่บางครั้งอาจจำเป็นต้องใช้ยานั้นในแม่ที่ให้กำลังให้นม  ถึงแม้ว่าจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อทารกก็ตาม เช่น เป็นยาที่ต้องใช้เพื่อช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรง โดยไม่มียาที่เป็นยาอื่นที่ปลอดภัยกว่าให้เลือกใช้

L5 CONTRAINDICATED: ห้ามใช้

จากการศึกษาพบว่าทารกที่กินนมจากแม่ที่ได้รับยา  จะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอันตรายจากยาอย่างมีนัยสำคัญ   และการใช้ยาในขณะที่ให้นมก็พบว่าไม่มีประโยชน์ หรือความคุ้มค่าที่ทารกจะเสี่ยงอย่างชัดเจน  จึงห้ามใช้ยานี้ในหญิงที่กำลังให้นมบุตร
 

Pharmacist-OK Copyright © 2011-2012 | Powered by Blogger